“เงินเดือนก็ขึ้น โบนัสก็ออก”
ต้นปีแบบนี้หลายๆ คนก็คงสมหวังกับเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น หรือโบนัสหลายเดือน หลังจากทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับงานในปีที่ผ่านมาแบบเต็มที่ ต่อจากนี้ก็คงต้องเริ่มวางแผนการเงินกันได้แล้ว ให้เงินเดือนที่ขึ้นและโบนัสที่ออกงอกเงยมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะส่งผลดีให้ตัวคุณทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอีกด้วย แต่ถ้ายังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไงดี ก็ลองทำตาม 7 ขั้นตอนง่ายๆ นี้กันดูนะคะ
ขั้นตอนแรกของการวางแผนการใช้เงิน คือ การสำรวจอุปนิสัย เงื่อนไข วิธีการใช้เงิน และข้อจำกัดของตัวคุณเองค่ะ เช่น คุณมีภาระรายจ่ายใดบ้างที่คุณต้องเสียทุก ๆ เดือน คุณมักจะใช้เงินไปกับเรื่องหรือสิ่งใดบ้าง จากนั้นให้กำหนดเป้าหมายทางการเงินของคุณ สิ่งสำคัญก็คือการกำหนดเป้าหมายจะต้องไม่ง่ายหรือเพ้อฝันจนเกินไป เพื่อไม่ให้คุณหย่อนยานในการบริหารเงินหรือสิ้นหวังจนเกินไปค่ะ
ซึ่งเมื่อคุณได้เป้าหมายแล้ว ให้คุณเริ่มวางแผนจัดสรรการหาและใช้จ่ายเงินอย่างเหมาะสมและเป็นไปตามเป้าหมายที่คุณตั้งใจ เช่น การกันเงินที่ต้องการออมเอาไว้ก่อน หรือนำเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนในเรื่องต่าง ๆ โดยคาดคะเนให้ตัวเลขเป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ ถ้าปฏิบัติตามแผนแล้วตัวเองยังห่างไกลจากเป้าหมายที่เราวางไว้ ก็ให้ลองปรับรายรับหรือรายจ่ายให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
2. ทำบัญชีรายรับรายจ่าย
รวบรวมตัวเลขรายรับและรายจ่ายที่คุณได้รับและจ่ายในเดือนนั้น ๆ แล้วทำการจดบันทึกเพื่อให้เห็นการเข้าออกของเงินทั้งหมดที่อยู่ในมือของคุณ ทำเป็นตารางให้เข้าใจง่ายและเป็นระเบียบเรียบร้อย แล้วเมื่อเวลาผ่านไป ให้คุณนำยอดรวมในบัญชีมาดูว่าคุณมีเงินคงเหลือน้อยกว่า 15% หรือไม่ ตัวเลขในแต่ละเดือนติดลบหรือเปล่า ถ้ามีตัวเลขติดลบหรือเงินเก็บน้อยเกินไป ก็คงต้องกลับไปดูที่บัญชีของคุณอีกครั้งแล้วค่ะว่า มีรายจ่ายที่ไม่จำเป็นอันไหนที่เราควรจะลดหรือตัดออกหรือเปล่า
การทำบัญชีรายรับรายจ่ายคือเครื่องมือสำคัญที่จะคอยรายงานและช่วยเตือนสติตัวคุณว่าสถานการณ์การเงินของคุณเป็นอย่างไรและเงินที่คุณคิดว่ามันหายไปที่จริงแล้วมันไปอยู่ที่ไหนกันแน่
3. การออม
การเก็บออมควรแยกบัญชีเงินฝากเป็น 3 บัญชี ได้แก่ บัญชีใช้จ่ายเผื่อฉุกเฉิน บัญชีเงินออม และบัญชีเพื่อการลงทุน ซึ่งเคล็ดลับการออมนั้น มี 2 วิธี คือ ออมแบบลบสิบ โดยหักเงิน 10% ของรายได้ทุกเดือนมาเป็นเงินออม วิธีนี้เหมาะกับคนที่มีวินัยในการออมมากๆ ส่วนวิธีที่ 2 คือ ออมแบบเพิ่มสิบ สำหรับคนที่ชอบซื้อ เมื่อซื้อของสิ่งใดก็ตามให้เพิ่มเงินอีก 10% ของมูลค่ามาเป็นเงินออม
4. การบริหารหนี้
หนี้มีทั้ง “หนี้ดี” และ “หนี้ฟุ่มเฟือย” ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการก่อหนี้ สำหรับหนี้ดี คือ หนี้ที่นำไปซื้อสิ่งของจำเป็น ไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ เช่น บ้าน การศึกษาของลูก ส่วนหนี้ฟุ่มเฟือย คือ หนี้ที่เกิดจากเรื่องที่ไม่จำเป็น เช่น การเปลี่ยนสมาร์ทโฟนทุกครึ่งปี
ทั้งนี้วิธีการที่ดีที่สุดในการลดหนี้ คือ พยายามใส่เงินจำนวนมากที่สุด โดยไม่กระทบกับรายจ่ายประจำที่จำเป็นเพื่อชำระ หนี้สินที่ถูกคิดดอกเบี้ยแพงที่สุด เช่น บัตรเครดิต และหนี้นอกระบบ และที่สำคัญคุณจะต้องไม่สร้างหนี้ที่ไม่จำเป็นเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย
5. วางแผนประหยัดภาษี
วิธีง่ายๆ คือ สรรหาค่าลดหย่อน ประกอบด้วย ดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน เงินบริจาค ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เบี้ยประกันชีวิต และเงินลงทุนในกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือเพื่อสนับสนุนการออม และหากคุณรับงานนอก ควรวางแผนให้ดีว่า จะรับเงินเพื่อคำนวณเป็นเงินเดือน (ภงด.91) หรือรับเป็นงานเหมา ซึ่งต้องไปเสียภาษีเป็นเงินได้จากการประกอบธุรกิจทั่วไป (ภงด.90) ลองคำนวณดูว่าวิธีการเสียภาษีแบบใดจะประหยัดเงินคุณมากกว่า
6. แผนการเงินยามเกษียณ
ก่อนอื่น คุณต้องถามตัวเองก่อนว่าจะเกษียณตอนอายุเท่าไร และถึงเวลานั้นอยากมีเงินเดือนใช้เดือนละเท่าไร สำหรับคนทำงานกินเงินเดือน แนะนำให้คุณประมาณการเงินเดือนสุดท้าย ณ วันที่จะเกษียณอายุแล้วหารด้วย 2ตัวเลขนั้นจะเป็นค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยที่คุณต้องใช้หลังเกษียณ ในการดูว่าเงินออมก้อนที่มีในปัจจุบันพอเพียงสำหรับการดำรงชีพในอนาคตหรือ ไม่ โดยให้คุณคำนวณเงินที่คุณควรมีเมื่อตอนเกษียณ โดยเอา 1 หาร 10 คูณอายุปัจจุบันและคูณรายได้ทั้งปี เช่น คุณอายุ 30 ปี มีรายได้ทั้งปี 300,000 บาท
1 หาร 10 = 0.1 x 30 (อายุ) x 300,000 (รายได้ทั้งปี)
คุณควรมีเงินเก็บ = 900,000 บาท
หากคุณมีเงินออมน้อยกว่าที่คำนวณได้ คุณควรต้องเก็บเงินในสัดส่วนที่มากขึ้นจึงจะพอใช้จ่ายในอนาคต
7. การลงทุนและการจัดการสำหรับลงทุน
ก่อนที่คุณจะลงทุน คุณควรคำนวณเสียก่อนว่า คุณได้แบ่งเงินไว้สำหรับใช้จ่ายกรณีฉุกเฉิน และกันไว้สำหรับสร้างหลักประกันเรียบร้อยแล้ว เงินที่เหลือจะเป็นเงินที่คุณนำมาลงทุนได้ ซึ่งประเภทของการลงทุน มีตั้งแต่ หุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวม และเงินฝาก เหล่านี้ผู้ลงทุนจะต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด
ทั้งหมดนี้เป็นวิธีบริหารเงินที่จะทำให้ทุกคนมีกินมีใช้แบบไม่จนตลอดปีและตลอดไป ไม่ว่าเศรษฐกิจจะแย่แค่ไหนก็ตาม ให้การบริหารและจัดสรรค่าใช้จ่ายประจำวัน หรือการเก็บเงินเพื่อสำรองไว้ในยามฉุกเฉิน เป็นเรื่องง่ายและสนุกแบบไม่น่าเบื่อ เริ่มต้นได้ตั้งแต่วันนี้ ธนาคารธนชาตยินดีให้คำปรึกษาค่ะ