ใครบ้างจะอยากเป็นหนี้ ถ้ามีเงินก็ไม่เป็นหนี้ใครหรอกจริงมั้ย? แต่เมื่อรายรับไม่เท่ากับรายจ่าย การต้องเป็นหนี้แบบจำเป็นหรือด้วยสถานการณ์ไม่คาดคิด ก็อาจเกิดขึ้นได้ และอาจทำให้เราอยู่ในภาวะจำยอม
ต้องยืมเงินและเป็นหนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในเมือ บางครั้งเราอาจต้องเจอสถานการณ์ ต้องเป็นหนี้ เราก็ควรมีการ “วางแผนเป็นหนี้” และ “วางแผนปลดหนี้” กันล่วงหน้า เพื่อที่เราจะได้เป็นหนี้ในแบบ เอาตัวรอดได้
เคล็ดลับ “เป็นหนี้ทั้งที ต้องเอาตัวให้รอด”
เคล็ดลับที่ 1: รู้ตัวว่ากำลังจะเป็นหนี้
ข้อนี้สำคัญมาก เพราะถือเป็นจุดกำเนิดหนี้ ดังนั้น ในทุกๆครั้งที่เรากำลังจะยืมเงินใคร เราต้องรู้และไตร่ตรองให้ดีว่า เรามีความจำเป็นที่จะต้องยืมเงินจำนวนนี้จริงๆหรือไม่ หรือลองไตร่ตรองถึงสาเหตุของการต้องเป็นหนี้ ว่ามันเหตุจำเป็น หรือเป็นเพียงความอยากได้ เช่น ต้องการยืมเงินเพื่อการท่องเที่ยว หรือเปลี่ยนโทรศัพท์เป็นสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ อันนี้ ถือว่าอยากได้จนต้องเป็นหนี้ แต่หากจำเป็นเพื่อเป็นค่ารักษาอาการเจ็บป่วยของคนในบ้านจากโรคร้ายแบบไม่พึงประสงค์ อันนี้ถือเป็นเรื่องจำเป็น และถึงแม้จะเป็นเรื่องจำเป็น เราก็ควรจะคิดไตร่ตรองก่อนอีกครั้ง ว่าพอจะมีหนทางใด หรือมีค่าใช้จ่ายส่วนใหน หรือสิ่งของใดที่ไม่จำเป็น และเราสามารถลด หรือโละ เพื่อนำเงินมาใช้แทนการเป็นหนี้ได้บ้าง
เคล็ดลับที่ 2: ความสามารถในการคืนหนี้
เมื่อมีความจำเป็นต้องเป็นหนี้ใครหรือสถาบันการเงินใด ให้เปรียบเทียบจำนวนเงินที่ต้องชำระคืน ต้องเข้าใจว่าการกู้เงินประเภทไหน ที่จะช่วยให้เราเสียดอกเบี้ยน้อยสุด และปลดหนี้ได้เร็วสุด เช่นหากเป็นการยืมคนสนิท หรือญาติพี่น้องที่ไม่คิดดอกเบี้ย วิธีนี้ย่อมดีสุด แต่เราก็ต้องชำระคืนให้เร็วที่สุด ตามที่น้ำใจของญาติพี่น้องให้มา แต่หากเป็นการกู้นอกระบบ ซึ่งมักจะมีดอกเบี้ยสูง ก็อยากให้ทางเลือกนี้ไม่เกิดขึ้น หรือเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะวิธีนี้ อาจจะทำให้คุณ “เป็นหนี้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอดได้” สำหรับวิธีที่ปลอดภัยและถูกต้องที่สุด คือ การขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เพราะมีขั้นตอน มีระบบ และมีทางเลือกให้กับเรา
เคล็ดลับที่ 3: รู้ความต่างของสินเชื่อ
เมื่อเราตัดสินใจจะใช้บริการสินเชื่อกับสถาบันการเงินใด ก็ยังจำเป็นต้องศึกษาและหาสินเชื่อที่เหมาะสมและช่วยให้เราจ่ายดอกเบี้ยน้อย และหมดภาระหนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งสินเชื่อดังกล่าว มีอยู่ 2 แบบ คือ
สินเชื่อแบบไม่ต้องใช้หลักประกันตัวอย่างสินเชื่อแบบไม่ต้องมีหลักประกัน ได้แก่ บัตรกดเงินสด บัตรเครดิต เช่นการกดเงินสดจากบัตรเครดิต หรือการขอสินเชื่อบุคคลในรูปแบบผ่อนชำระกับบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล สินเชื่อประเภทนี้จะคิดอัตราดอกเบี้ยสูงมาก
สินเชื่อแบบต้องใช้หลักประกัน
สินเชื่อประเภทนี้ คือการนำสินทรัพย์ เช่น บ้าน รถยนต์ มาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ซึ่งสินเชื่อลักษณะนี้ จะมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรืออาจเป็นสินเชื่อประเภท จำนำ คือการนำสินทรัพย์ที่ไม่ใช้งานมาเป็นหลักประกัน เช่น ทอง นาฬิกา เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ก็สามารถทำได้เพราะมีอัตราเงินกู้ที่ไม่สูงมากนัก
ดังนั้น หากจำเป็นต้องใช้เงิน แนะนำให้เลือกสินเชื่อแบบมีหลักประกันก่อนแบบไม่มีหลักประกัน
เคล็ดลับที่ 4: เป็นหนี้อย่างมีวินัย
ในเมื่อเป็นหนี้แล้ว ก็ควรมีวินัยในการชำระหนี้เช่นกัน ควรจะชำระหนี้ตามที่ตกลงไว้ไม่ว่ากับบุคคลหรือกับสถาบันการเงิน โดยชำระตามกำหนด เพราะการชำระหนี้ล่าช้า ก็จะมีการเสียค่าปรับ และการคำนวนดอกเบี้ยของความล้าช้านั้นด้วย ปัจจุบันสถาบันการเงินหลายแห่งมีการโทรแจ้งเตือนการชำระหนี้ และบางแห่งมีบริการแจ้งเตือนทาง SMS และแทบทุกแห่งเปิดโอกาสให้เราสมัครบริหารหักเงินจากบัญชีเงินฝากแบบอัตโนมัติ
หากเราไม่ชำระหนี้ให้ตรงเวลา จะทำให้เราเข้าสู่ภาวะ หนี้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดได้ เพราะความล่าช้า และการผิดนัดชำระ จะยิ่งทำให้เราต้องหาเงินก้อนที่ใหญ่ขึ้นมาชำระหนี้ รวมถึงดอกเบี้ยใหม่ของการชำระช้าก็จะยิ่งทำให้เราเป็นหนี้มากขึ้นอีกด้วย
เคล็ดลับที่ 5: โปะได้ โปะเลย
วิธีที่สามารถช่วยให้เราหมดหนี้เร็ว และชำระดอกเบี้ยน้อยคือการ “โปะ” หรือการนำเงินมาชำระหนี้ล่วงหน้า แต่ก่อนที่จะทำการโปะ ให้ศึกษาก่อนว่า หนี้ที่เรามีนั้นถูกคิดดอกเบี้ยในแบบไหน แบบ “ดอกเบี้ยลดต้นลดดอก” หรือ “ดอกเบี้ยแบบคงที่” หากเป็นแบบ ดอกเบี้ยลดต้นลดดอก เช่น สินเชื่อบ้าน บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด การชำระแบบ “โปะ” จะช่วยลดทั้งเงินต้น และลดดอกเบี้ยของจำนวนเงินที่เหลือค้างไว้ แต่หากการกู้เป็นแบบดอกเบี้ยคงที่ เช่น การเช่าซื้อรถยนต์ ก็ไม่จำเป็นต้องโปะ เพราะดอกเบี้ยถูกคำนวนให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยทั้งหมดพร้อมๆ โดยเฉลี่ยออกมาเป็นการชำระรายงวด การนำเงินก้อนมาชำระ จึงไม่เกิดผลเรื่องดอกเบี้ย เพียงแต่ทำให้หนี้สินหมดเร็วขึ้นเท่านั้น
ดังนั้น ก่อนคิดจะเป็นหนี้ ควรเริ่มต้นจากการ Rethink อีกครั้งว่าเป็นหนี้ที่จำเป็นหรือไม่ และควรมีการวางแผนชำระหนี้อย่างมีวินัย เพื่อชีวิตที่เป็นสุข และอยู่อย่างปราศจากหนี้สิน