ทุกวันนี้สถาบันการเงินจะมีวิธีการคิดดอกเบี้ยเงินกู้อยู่หลายรูปแบบ ซึ่งส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับประเภทของสินเชื่อและความเหมาะสมตามเงื่อนไขที่สถาบันการเงินได้กำหนดไว้ ดังนั้นเพื่อไขความกระจ่างเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ เราลองมาดูกันว่ารูปแบบของดอกเบี้ยเงินกู้ที่สถาบันการเงินหรือธนาคารต่างๆ ใช้กันมีลักษณะเป็นอย่างไร
อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate)
เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกำหนดไว้ ณ ระดับใดระดับหนึ่ง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามกลไกตลาด ดังนั้นจึงไม่มีการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามต้นทุนของธนาคาร โดยจะกำหนดให้คงที่ตลอดอายุสัญญาการกู้ หรือในช่วงเวลาตามที่ธนาคารกำหนด เช่น อัตราดอกเบี้ย 6% ต่อปี เป็นระยะเวลา 4 ปี เป็นต้น
ข้อดีของอัตราดอกเบี้ยคงที่สำหรับผู้กู้ คือ จะช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลต่อค่างวดในการผ่อนชำระ โดยทั่วไปหากเป็นสัญญาระยะยาว ธนาคารมักจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงในระดับที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นการชดเชยความเสี่ยงและค่าเสียโอกาสของธนาคารเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย
อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate)
เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกำหนดให้เปลี่ยนแปลงได้ตามกลไกตลาด หรือสามารถมีการปรับขึ้นลงได้ตามต้นทุนของธนาคาร ซึ่งส่งผลต่อค่างวดในการผ่อนชำระของผู้กู้ และจะต้องอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน เช่น MLR MRR MOR เป็นต้น ที่ใช้ในการคิดดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าแต่ละกลุ่มของธนาคาร
มาถึงตรงนี้ก็อาจจะสงสัยว่าแล้วดอกเบี้ย MLR MRR และ MOR มีความแตกต่างกันอย่างไร สำหรับดอกเบี้ย MLR หรือ Minimum Loan Rate คือ ดอกเบี้ยที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ซึ่งคำว่า “ชั้นดี” ในที่นี้หมายถึง การมีรายได้ที่มั่นคง การมีประวัติทางการเงินดี การมีหลักทรัพย์ค้ำประกันที่เพียงพอ ทั้งนี้ส่วนใหญ่จะใช้อัตราดอกเบี้ย MLR กับเงินกู้ระยะยาวที่มีกำหนดการผ่อนชำระแน่นอน
ส่วนดอกเบี้ย MRR หรือ Minimum Retail Rate ธนาคารจะใช้สำหรับกลุ่มลูกค้ารายย่อยชั้นดี ซึ่งดอกเบี้ย MRR มักจะอยู่ในสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อที่อยู่อาศัย ด้านดอกเบี้ย MOR หรือ Minimum Overdraft Rate เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารใช้เรียกเก็บจากกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทวงเงินเบิกเกินบัญชี ทั้งนี้ดอกเบี้ยมาตรฐานที่ใช้อ้างอิงทั้ง MLR MRR และ MOR ธนาคารจะแจ้งให้ลูกค้าทราบอย่างชัดเจนและหากมีเปลี่ยนแปลงก็ต้องมีประกาศอย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ตามการใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวธนาคารสามารถบวกเพิ่มหรือปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานได้ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของผู้กู้ หากคุณเป็นลูกค้าที่รายได้มีความมั่นคงธนาคารมักจะเสนออัตราดอกเบี้ยที่ลดต่ำกว่า เช่น MRR -2% หมายความว่าถ้าอัตราดอกเบี้ย MRR อยู่ที่ 7% คุณจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่า 2% ซึ่งนั่นจะทำให้ภาระดอกเบี้ยของคุณลดลงได้
อัตราดอกเบี้ยขั้นบันได
เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกำหนดให้คงที่ในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง หรือปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่คงที่ แล้วหลังจากนั้นก็จะปรับเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยในช่วงเริ่มต้นของการผ่อนชำระ
จากอัตราดอกเบี้ยรูปแบบต่างๆ ที่กล่าวมานี้ ธนาคารส่วนใหญ่จะใช้วิธีการเรียกเก็บดอกเบี้ยจากลูกค้าแตกต่างกันตามประเภทของสินเชื่อ ซึ่งสินเชื่อบางประเภทก็จะมีการคิดดอกเบี้ยผสมกันหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างกรณีของสินเชื่อบ้านหรือสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย จะมีการเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยคงที่ในช่วงระยะเวลาประมาณ 1-2 ปี หลังจากนั้นก็จะเป็นดอกเบี้ยลอยตัว เช่น สินเชื่อบ้านของธนาคาร A ที่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 อยู่ที่ 5% หลังจากนั้นในปีที่ 2 จนถึงครบอายุสัญญา กำหนดอัตราดอกเบี้ยจะเท่ากับ MRR -1.25% เป็นต้น
ดังนั้นก่อนที่เราจะขอสินเชื่อไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อรถ สินเชื่อบ้าน สินเชื่อธุรกิจ หรือสินเชื่อส่วนบุคคล สิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจก่อนเสมอคือ อัตราดอกเบี้ย เพื่อเป็นการวางแผนทางการเงินอย่างรอบคอบและคุ้มค่ากับดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้นจากการกู้ยืมเงินนั้น