ThanachartCSRThanachartCSR
ThanachartCSR
ThanachartCSR
  • หน้าแรก
  • พันธกิจ
  • กิจกรรมเพื่อสังคมกลุ่มธนชาต
    • ธนชาต ริเริ่ม…เติมเต็ม เอกลักษณ์ไทย
    • Rethink คิดใหม่ ใช้เงินเป็น เห็นความสุข
    • พิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน
      • ประวัติความเป็นมา
      • ความหมาย
      • รูปภาพกิจกรรม
    • โครงการสะพานบุญ
      • ความเป็นมา
      • ประวัติโครงการ
      • องค์กรที่ร่วมโครงการ
    • งานกาชาด
      • ประวัติความเป็นมา
      • ข่าวสาร
      • รูปภาพกิจกรรม
    • ปฏิทินธนชาต
  • ข่าวและบทความ
  • ติดต่อเรา
Menu back  

สร้างรายได้จากการลงทุน

September 23, 2015รู้จักเก็บ รู้จักลงทุนBy Thanachart CSR

หลังจากพอจะทราบกันไปบ้างแล้วว่า “การลงทุน” จะเป็นตัวช่วยในการสร้างรายได้และทำให้เราบรรลุเป้าหมายหรือมีอิสรภาพทางการเงิน วันนี้ลองมาสำรวจกันว่ารายได้ที่เกิดขึ้นจากลงทุนนั้นจะมีลักษณะแบบใดบ้าง เพื่อให้เราสามารถใช้เป็นแนวทางสำหรับการสร้างรายได้จากการลงทุนในอนาคต

  • ดอกเบี้ย (Interest)

รายได้จากการลงทุนอย่างแรกที่ถือว่าเป็นรายได้ที่สม่ำเสมอและมีความผันผวนน้อยที่สุด คือ รายได้จากดอกเบี้ย ซึ่งเป็นผลตอบแทนจากการนำเงินไปให้คนอื่นกู้ยืมต่อ เช่น การฝากเงินกับธนาคาร สลากออมทรัพย์ ส่วนนี้เป็นการให้ธนาคารนำเงินของเราไปให้คนอื่นกู้ยืม รวมถึงดอกเบี้ยจากพันธบัตรรัฐบาลที่ภาครัฐอยู่ในฐานะลูกหนี้ มีหน้าที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนให้กับผู้ถือครองพันธบัตรตามกำหนดระยะเวลา

เช่นเดียวกับหุ้นกู้ที่มีความแตกต่างจากพันธบัตรตรงที่ลูกหนี้จะเป็นบริษัทเอกชน แต่ก็มีภาระหน้าที่จ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้เป็นเจ้าหนี้หรือถือครองตราสารนั้นตามกำหนดด้วย

โดยเราสามารถลงทุนในตราสารเหล่านี้ได้เองโดยตรง หรือถ้าหากเราไม่มีเวลาในการติดตามข้อมูลรวมถึงอาจจะยังมีความรู้เรื่องการลงทุนตราสารเหล่านี้ไม่มาก เราสามารถเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวมซึ่งมีผู้จัดการกองทุนมืออาชีพคอยบริหารจัดการให้ได้

หากพิจารณาในแง่ผลตอบแทนหรือรายได้จากดอกเบี้ยส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก โดยปัจจุบันถ้าเป็นผลตอบแทนของเงินฝากหรือสลากออมทรัพย์จะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2-3% ต่อปี ด้านผลตอบแทนจากการลงทุนพันธบัตรรัฐบาลอยู่ที่ระดับประมาณ 3-4% ต่อปี ส่วนหุ้นกู้เอกชนผลตอบแทนก็จะสูงกว่าพันธบัตรเล็กน้อย

แต่ทั้งนี้จากสภาวะในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกถือว่าทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งอาจจะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับเราได้ การมีรายได้ดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวจึงอาจจะยังไม่เพียงพอ

  • เงินปันผล (Dividend)

รายได้จากเงินปันผล คือ ส่วนแบ่งรายได้ที่บริษัทจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นเมื่อบริษัทมีกำไร สิ่งสำคัญสำหรับการสร้างรายได้จากเงินปันผลจึงอยู่ที่การเลือกลงทุนในบริษัทที่ดีและผลประกอบการมีกำไร มีศักยภาพที่จะสามารถจ่ายเงินปันผลให้กับเราได้ ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ที่มีกำไรมักจะจ่ายปันผลปีละไม่เกิน 2 ครั้ง คือ ช่วงต้นปีและช่วงกลางปี

หากพิจารณาอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend yield) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2558 อยู่ที่ประมาณ 3% ซึ่งก็ถือว่าเป็นระดับที่ดีพอสมควร อย่างไรก็ตามใน SET ยังมีหลายบริษัทที่จ่ายเงินปันผลตอบแทนสูงประมาณ 5-6% และมักจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า “หุ้นปันผล”

ดังนั้นหากต้องการมีรายได้จากเงินปันผลสูงๆ ก็ต้องเฟ้นหาบริษัทที่ดี แต่ถ้าจะให้ง่ายขึ้นอีกนิดแนะนำว่าเราควรฝากเงินลงทุนให้ผู้จัดการกองทุนช่วยทำหน้าที่นี้แทนจะดีกว่า โดยลงทุนผ่านกองทุนหุ้นปันผล เพราะขึ้นชื่อว่า “มืออาชีพ” ฝีมือในการคัดสรรหุ้นที่มีปันผลสูงและมีพื้นฐานดีย่อมไม่ธรรมดาแน่นอน ตัวเราเองก็จะได้ไม่ต้องมาปวดหัวเองด้วย รวมถึงยังสามารถลงทุนในกองทุนหุ้นที่มีนโยบายการจ่ายปันผลได้เช่นกัน

  • กำไรจากการลงทุน (Capital Gain)

คนเราบางครั้งก็อยากจะลงทุนมีธุรกิจส่วนตัว ซึ่งการทำธุรกิจนั้นเราอาจจะต้องทั้งลงทุนและลงแรงทำด้วยตัวเอง ตั้งแต่การคิดว่าจะทำกิจการอะไร ต้องวางแผนงาน ไปจนถึงทุ่มเทลงมือทำ ซึ่งบางครั้งก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวัง ขณะเดียวกันหากธุรกิจนั้นตรงกับความต้องการของตลาดหรือตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคในที่สุดก็จะทำให้สามารถมีกำไรจากการลงทุนทำธุรกิจนั้น

นอกจากนี้ก็ยังมีทางเลือกในการลงทุนทำธุรกิจโดยที่เราไม่จำเป็นต้องสร้างด้วยตนเอง หรือคิดระบบงานด้วยตัวเอง เราก็สามารถใช้ช่องทางของธุรกิจแฟรนไชส์ซึ่งจะมีคนคิดทุกอย่างไว้ให้แล้วทั้งหมด สิ่งสำคัญในการลงทุนทำธุรกิจนี้คือ ต้องเลือกแฟรนไชส์ที่มีผลงานประสบความสำเร็จมาก่อน เพื่อจำกัดหรือลดความเสี่ยงในการลงทุนของเราให้น้อยที่สุดนั่นเอง

อย่างไรก็ตามนอกจากการลงทุนทำธุรกิจเองโดยตรงแล้ว เรายังสามารถสร้างกำไรจากการลงทุนผ่านสินทรัพย์ทางการเงินประเภทต่างๆ ได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นการลงทุนในหุ้น หากเราถือครองหุ้นของบริษัทที่ดีและมีคุณภาพ เมื่อผ่านไปช่วงระยะเวลาหนึ่งราคาหุ้นก็มักจะเติบโตตามบริษัท ซึ่งถ้าเราขายหุ้นนั้นออกไปในราคาที่สูงกว่าต้นทุนที่เราลงทุนซื้อมา ส่วนต่างตรงนี้ก็เป็นกำไรจากการลงทุนเช่นเดียวกัน โดยที่เราไม่ต้องลงมือทำธุรกิจ

ทั้งนี้การลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้เราขาดทุนได้เช่นเดียวกัน ถ้าเราลงทุนในบริษัทที่ไม่มีคุณภาพ ดังนั้นการเลือกลงทุนจึงต้องอาศัยการพิจารณาและวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน แต่ถึงอย่างนั้นการลงทุนก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีทางหนึ่งซึ่งทำให้เงินลงทุนของเรามีโอกาสเพิ่มมูลค่าได้ในระยะยาว

 

นอกจากรายได้ทั้ง 3 ประเภทที่กล่าวมา ยังมีรายได้อีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า “ค่าเช่า” มีลักษณะเป็น Passive Income มีเงินไหลเข้ากระเป๋าเราได้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยรายได้ค่าเช่าที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยมาจากอสังหาริมทรัพย์ ทั้งบ้าน คอนโด อพาร์ทเม้นท์ ซึ่งเราต้องลงทุนซื้อกรรมสิทธิ์ แล้วจากนั้นก็สามารถปล่อยให้ผู้อื่นมาเช่าอาศัยและเราก็จะได้รับผลตอบแทนเป็นค่าเช่าทุกๆ เดือน

ถ้าไม่ต้องการยุ่งยากลงทุนเองและต้องมาคอยตามเก็บค่าเช่า เราก็สามารถลงทุนผ่านกองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทรัสต์ (REITs) ซึ่งมีผลตอบแทนที่จ่ายมาในลักษณะเงินปันผล แต่แท้จริงแล้วก็เป็นรายได้ที่เกิดขึ้นจากค่าเช่า ส่วนใหญ่ผลตอบแทนของกองทุนเหล่านี้ก็อยู่ที่ประมาณ 6-8% ต่อปี ขึ้นอยู่กับลักษณะของสินทรัพย์กองทุนด้วยว่าเป็นอย่างไร ถือเป็นทางเลือกในการรายได้จากค่าเช่าที่น่าสนใจอีกรูปแบบ

 

จะเห็นได้ว่าเราสามารถสร้างรายได้จากการลงทุนได้หลายรูปแบบ ซึ่งการจะเลือกแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการลงทุน รวมถึงความสามารถในการรับความเสี่ยงด้วย เห็นแนวทางแบบนี้แล้วก็หวังว่าทุกคนจะสามารถสร้างรายได้จากการลงทุนในสิ่งที่เหมาะสมกับตนเองและประสบความสำเร็จในการลงทุนได้ไม่ยากอย่างแน่นอน

Back to Rethink

About the author

Thanachart CSR

Related posts
<font color='orange'>Rethink: </font> ลงทุนให้ถูกที่ได้ประหยัดภาษีเป็นแต้มต่อ
May 30, 2016
<font color='orange'>Rethink: </font> รู้จักกองทุนรวมประเภทต่างๆ
May 23, 2016
<font color='orange'>Rethink: </font> ลงทุนอย่างไรให้ชีวีมีสุข
May 19, 2016
<font color='orange'>Rethink: </font> เปิดคัมภีร์การลงทุนด้วยกลยุทธ์ DCA
February 15, 2016
<font color='orange'>Rethink: </font> เคล็ดลับลงทุนให้ประสบความสำเร็จ
January 11, 2016
<font color='orange'>Rethink: </font> เงินออมระยะยาวของเราอยู่ตรงไหนบ้าง?
January 4, 2016

© 2558 สงวนลิขสิทธิ์ โดย ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)