คุณอยากมีปั้นปลายชีวิตแบบไหน? คำถามนี้ ลองได้ถามใครดู ก็มักจะได้คำตอบที่ใกล้เคียงกัน คือ “ขอมีครอบครัวที่มีความสุข มีเงินใช้ไม่เดือดร้อนใคร” บ้างก็ “ไม่ขออะไรมาก ขอแค่มีชีวิตที่สุขสบาย ไม่มีหนี้สิน และมีเงินใช้ไปตลอดชีวิตก็พอแล้ว” หรือ “ขอมีสุขภาพที่ดี ไม่ต้องเป็นภาระใคร มีความสุข มีเงินใช้แบบพอเพียง” จะเห็นว่าอนาคต เราฝันได้ กำหนดได้ “แค่ในความคิดของเราเอง” เพราะในที่สุด สิ่งที่เราเคยมีในวันนี้ คนส่วนมากก็ยังต้องการมีเท่าเดิมในวันข้างหน้า คือ บ้าน รถ เงิน และความสุขของครอบครัว ซึ่งในความเป็นจริงเราไม่สามารถกำหนดทุกสิ่งอย่างให้เป็นเหมือนวันนี้ได้ เราเพราะไม่รู้อนาคต ดังนั้นสิ่งที่เราอยากได้อยากมีในอนาคตจะ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เอง ถ้าเราไม่รู้จัก ‘Rethink’ หรือ การคิดที่จะเริ่มต้นวางแผนอนาคตที่ดีให้กับตัวเราเอง หลักการเริ่มต้นแบบง่ายๆ ในการคิดใหม่ใช้เงินเป็นเพื่ออนาคตที่มีความสุข
กำหนดเป้าหมาย
อย่างแรกที่เราต้องทำคือ “กำหนดเป้าหมายชีวิต” ด้วยการลองจดรายการเป้าหมายต่างๆ ที่ต้องการในชีวิต โดยแบ่งเป็น “เป้าหมายระยะสั้น” และ “เป้าหมายระยะยาว” ควรระบุความสำคัญของเป้าหมายไว้ด้วยว่าเป็น “เป้าหมายที่สำคัญน้อย” คือ หากทำไม่สำเร็จ ก็จะไม่มีผลกระทบต่อชีวิต และ “เป้าหมายที่สำคัญมาก” คือ ถ้าทำไม่สำเร็จ ก็จะมีผลกระทบต่อชีวิตและคนในครอบครัว
ตัวอย่างเป้าหมายระยะสั้นเช่นการกำหนดเป้าหมายเพื่อการท่องเที่ยว อาจจะเป็นเป้าหมายระยะสั้น ใช้เวลา 3 เดือน ถึง 2 ปี ในการบรรลุผล ขึ้นอยู่กับว่าคุณต้องการท่องเที่ยวแบบไหน ค่าใช้จ่ายมากน้อยอย่างไร และขึ้นอยู่กับรายได้ที่คุณมี ซึ่งเป้าหมายนี้ ถ้าไม่สำเร็จ ก็จะไม่มีผลต่อการใช้ชีวิต หรือการวางแผนชำระค่าเล่าเรียนให้ลูกๆ ก็ถือเป็นเป้าหมายระยะสั้น แต่เป็นเป้าหมายที่หากทำไม่สำเร็จจะมีผลกระทบต่อชีวิตได้
ตัวอย่างเป้าหมายระยาว
เช่นการกำหนดเป้าหมายเพื่อการเกษียณ เพื่อให้มีชีวิตมีความสุขในแบบที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ในวัยเกษียณ อย่างไม่เดือดร้อนใคร และเป็นเป้าหมายสำคัญมาก เพราะหากทำไม่สำเร็จก ก็จะมีผลกระทบกับชีวิตได้ หรือตัวอย่างการกำหนดเป้าหมายในการเที่ยวรอบโลก หรือการมีที่ดินและบ้านในต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ เพื่อใช้ชีวิตยามเกษียณอย่างที่ฝันไว้ ถือเป็นเป้าหมายระยะยาวที่หากทำไม่สำเร็จ ก็ไม่มีผลกระทบกับชีวิต
การตั้งเป้าหมายที่ดี จึงควรตั้งเป้าหมายจากสิ่งที่น่าจะมีผลกับชีวิตเราและครอบครัวเป็นอันดับต้นๆ
กำหนดระยะเวลา
กำหนดระยะเวลาของแต่ละเป้าหมายนั้น ว่าต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายภายในระยะเวลาเท่าไหร่ กี่เดือน กี่ปี เพื่อนำมาวางแผนการออมเงินในแต่ละปี ว่าจะต้องออมอย่างไร ออมเท่าไหร่ เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น
สำรวจเงินที่มีอยู่
ให้สำรวจเงินที่มีอยู่กับรายได้ประจำ และค่าใช้จ่ายรายเดือน เพื่อจัดสรรเงินเพื่อการใช้จ่าย เพื่อการออม และเพื่อการลงทุนให้เหมาะสมกับระยะเวลาที่กำหนดให้แต่ละเป้าหมาย รวมถึงความสำคัญของแต่ละเป้าหมายเช่นกัน โดยเริ่มดูที่ค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เพื่อลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อให้มีเงินเหลือเพื่อเป้าหมายที่วางไว้
วางแผนการออมและลงทุน
การวาแผนการออมและลงทุน จะช่วยให้เราบริหารได้ดีว่าจะเลือกออมเงินและลงทุนให้เหมาะสมกับระยะเวลาการใช้เงินอย่างไร รวมถึงการบริหารความเสี่ยงที่เรารับได้ด้วยเช่นกัน
เช่น เป้าหมายระยะสั้น ที่สำคัญอย่างค่าเล่าเรียนของลูกๆ นั้นไม่ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง แต่ให้เลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อย เช่น การลงทุนในบัญชีเงินฝากหรือกองทุนรวมตลาดเงินทีมีความเสี่ยงต่ำ ส่วนเป้าหมายระยะยาว เช่นการเกษียณในแบบมีเงินใช้จ่ายแบบไร้กังวล และอาจมีเหลือไว้ท่องเที่ยวรอบโลก ซึ่งมีความสำคัญมาก ปานกลาง ถึงน้อยนั้น รูปแบบออมและลงทุนอาจเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงได้บ้าง เช่น กองทุนรวมผสมที่มีการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ ซึ่งหากการลงทุนไม่เป็นตามเป้าหมายก็ยังไม่ส่งผลต่อชีวิตมากนัก และยังสามารถปรับเปลี่ยนการลงทุนได้ในอนาคต
ติตตามผล
เมื่อออมเงินและลงทุนแล้ว ก็ควรต้องติดตามและตรวจสอบผลตอบแทนจากการออมและลงทุนเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูว่าการลงทุนและการออมได้รับผลตอบแทนตามที่วางไว้หรือไม่ ซึ่งหากไม่เป็นไปตามแผนที่ตั้งใจไว้ ก็ต้องหาสาเหตุและเลือกปรับเปลี่ยนเป้าหมาย หรือปรับเปลี่ยนวิธีออมและลงทุนใหม่เพือให้ได้ผลบรรลุตามที่วางเป้าหมายไว้ เช่น การเลื่อนเป้าหมายการท่องเที่ยวออกไปเพื่อนำเงินมาลงทุนเพิ่มเพื่อให้เป้าหมายที่สำคัญกว่าบรรลุ
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น หากต้องการมีชีวิตในอนาคตที่มีความสุขดังที่หวังไว้ สิ่งที่ทำให้สำเร็จได้คือการเริ่มต้นวางแผน และหากใครที่ยังใช้เงินตามรายรับที่ได้ ก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้อง Rethink เพื่อคิดใหม่ ใช้เงินให้เป็น เพื่อความสุขในอนาคต